Life in Japan ตอนที่ 6 “ห้องน้ำสาธารณะ
Life in Japan ตอนที่6 “ห้องน้ำสาธารณะ”
ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ จะมีห้องน้ำให้บริการ น้องๆเคยสงสัยไหมคะว่า ปุ่มต่างๆที่อยู่ข้างชักโครกมีปุ่มอะไรบ้างและใช้อย่างไร ทำไมถังขยะ
ในห้องน้ำที่ญี่ปุ่นถึงมีแต่ถังเล็กๆ แล้วทำไมคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงถึงชอบปิดฝาชักโครกหลังออกจากห้องน้ำ ในตอนที่ 6 นี้เราจะมาคลายข้อสงสัยในเรื่องนี้กันนะคะ
ก่อนอื่นเลยห้องน้ำที่ญี่ปุ่นจะมีชักโครก 2 แบบ คือ แบบนั่งทั่วไป (様式=yōshiki) กับ แบบญี่ปุ่น(นั่งยอง) (和式=washiki)
“ระวังอย่าเผลอกดปุ่มฉุกเฉิน โดยคิดว่าเป็นปุ่มกดน้ำทิ้งนะคะ”
วิธีสังเกตว่าปุ่มไหนเป็นปุ่มกดน้ำและปุ่มไหนเป็นปุ่มฉุกเฉิน ตามรูปภาพด้านล่างนี้ค่ะ
กรณีห้องน้ำแบบอัตโนมัติ บางที่ที่ไม่มีภาษาอังกฤษ ให้สังเกตอักษรคันจิคำว่า 流す=nagasu หมายถึง ทำให้ไหลไป แต่ถ้าห้องน้ำที่มีที่กดแบบมือจับก็สามารถกดได้เลยค่ะ
ปกติปุ่มฉุกเฉินจะมีลักษณะและสีที่สะดุดตา บางที่ให้สังเกตคำว่า 非常= hijyō (ไม่ปกติ) หรือคำว่า 呼出す=yobi dasu (เรียกมา)หมายถึง ปุ่มเรียกเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินค่ะ
ตัวอย่างชักโครกแบบนั่งยอง
ห้องน้ำสาธารณะที่ญี่ปุ่นจะแตกต่างจากบ้านเราคือ สามารถทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงไปในชักโครกได้เลยโดยไม่ต้องกลัวส้วมตันค่ะ เพราะกระดาษชำระเป็นกระดาษที่ย่อยสลายง่าย และไม่ควรทิ้งอย่างอื่นนอกเหนือจากกระดาษชำระลงในชักโครกนะคะ เช่น ผ้าอนามัย หรือสิ่งของที่ทำให้ท่ออุดตัน ควรทิ้งลงในถังขยะที่อยู่ในห้องน้ำ
นั่นก็หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีถังใบใหญ่ในห้องน้ำเพราะสามารถทิ้งกระดาษชำระลงในชักโครกได้เลยนั่นเอง
ส่วนเรื่องที่ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงชอบปิดฝาชักโครกก่อนออกจากห้องน้ำ มี 3 เหตุผลดังนี้ค่ะ
1.ในฤดูหนาวที่ญี่ปุ่นจะหนาวมาก การปิดฝาชักโครกจะช่วยทำให้อุ่นและช่วยประหยัดไฟ ได้ค่ะ
2.ป้องกันสิ่งของตกหล่นลงในชักโครก
3.ข้อนี้เป็นเหตุผลหลักเลยคือ ป้องกันน้ำกระเด็นกรณีกดปุ่มผิด เพราะถ้าน้ำกระเด็นออกมาอาจจะมีแบคทีเรียออกมาด้วย
ดังนั้น เหตุผลโดยรวมแล้วก็เพื่อเตรียมพร้อมให้คนที่เข้าถัดไปเห็นว่าห้องน้ำพร้อมใช้นั่นเอง
อีกเรื่องหนึ่งที่พี่โอ๋เคยเจอมาตอนเข้าห้องน้ำสาธารณะ คือ มีคนเดินมาเคาะประตูห้องที่เราเข้า ตอนนั้นก็ตกใจนั่งเงียบๆ หลังจากนั้นก็เลยลองถามคนญี่ปุ่นดู คำตอบที่ได้คือ คนที่เข้าถัดจากเราไม่รู้ว่ามีคนอยู่ และเพื่อแสดงให้เขารู้ว่าเราเข้าอยู่ก็ให้เคาะตอบไปก็ได้ค่ะ เป็นอันเข้าใจว่าห้องน้ำมีคนใช้อยู่ ถ้าเกิดน้องๆเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ลองเคาะตอบไปนะคะ
นอกจากนี้ห้องน้ำหญิงบางที่(ส่วนใหญ่ในห้างสรรพสินค้า) ยังมีห้องสำหรับแต่งหน้าและที่นั่งสำหรับเด็กให้บริการด้วยค่ะ ^^
ข้อควรปฏิบัติ
ตัวอย่างรูปภาพการเข้าคิวแบบช้อนส้อม
การเข้าแถวต่อคิวเข้าห้องน้ำ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเข้าแถวแบบที่เรียกว่า
(フォーク並び = fōku narabi) (การเข้าคิวแบบช้อนส้อม)
หมายถึง การยืนต่อแถวเป็นแถวเดียว
ถ้าห้องไหนว่างคนที่ยืนหน้าสุดสามารถเข้าได้เลย และไม่ควรไปยืนรอหน้าประตูห้องน้ำใดห้องน้ำหนึ่งนะคะ
ควรทิ้งระยะห่างจากประตูห้องน้ำนิดหนึ่ง เพื่อเวลาที่ห้องไหนว่างจะได้เข้าได้ทุกห้อง การเข้าแถวแบบนี้ที่ซุปเปอร์มาร์เกตบางแห่ง หรือร้านร้อยแปดเยน ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีเข้า แถวแบบเดียวกันนี้ค่ะ
พอจะรู้คร่าวๆกันแล้วนะคะ ทีนี้ก็เข้าห้องน้ำได้อย่างสบายใจ แล้วพบกันใหม่ในตอนที่ 7
“โทรศัพท์สาธารณะ” ค่ะ