โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น โรงเรียนสอนภาษาจีน แนวใหม่ เจซีซี
ภูมิศาสตร์จีน
ภูมิศาสตร์จีน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 ภาพถ่ายดาวเทียมของสาธารณรัฐประชาชนจีน

สาธารณรัฐประชาชนจีนตั้อยู่ในเอเชียตะวันออก บนฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ดินประมาณ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีพื้นที่บนบกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และถูกพิจารณาว่ามีพื้นที่ทั้งหมดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของโลก ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อมูลขนาดนี้เกี่ยวข้องกับ (ก) ความถูกต้องของการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของจีน อย่างเช่น อัคสัยจินและดินแดนทรานส์คอราคอรัม (ซึ่งอินเดียอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งสองด้วยเช่นกัน) และ (ข) วิธีการคำนวณขนาดทั้งหมดโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งหนังสือความจริงของโลกระบุไว้ที่ 9,826,630 ตารางกิโลเมตร และสารานุกรมบริตานิการะบุไว้ที่ 9,522,055 ตารางกิโลเมตร สถิติพื้นที่นี้ยังไม่นับรวมดินแดน 1,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผนวกเข้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยรัฐสภาทาจิกิสถานเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งยุติข้อพิพาทด้านดินแดนที่ยาวนานนับศตวรรษ

ประเทศจีนมีอาณาเขตติดต่อกับ 14 ประเทศ มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก (เท่ากับรัสเซีย) เรียงตามเข็มนาฬิกาได้แก่ เวียดนาม ลาว พม่า อินเดีย ภูฏาน เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย มองโกเลีย และเกาหลีเหนือ นอกเหนือจากนี้ พรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐจีนตั้งอยู่ในน่านน้ำอาณาเขต ประเทศจีนมีพรมแดนทางบกยาว 22,117 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในโลก

 ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ในทิเบต
 ชายฝั่งทะเลจีนใต้ในไหหนาน
 แม่น้ำหลีเจียงในมณฑลกวางสี

ดินแดนจีนตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 18° และ 54° เหนือ และลองติจูด 73° และ 135° ตะวันออก
ประกอบด้วยลักษณะภูมิภาพหลายแบบ ทางตะวันออก ตามแนวชายฝั่งที่ติดกับทะเลเหลืองและทะเลจีนตะวันออก เป็นที่ราบลุ่มตะกอนน้ำพาซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นและกว้างขวาง ขณะที่ตามชายขอบของที่ราบสูงมองโกเลียในทางตอนเหนือนั้นเป็นทุ่งหญ้า ตอนใต้ของจีนนั้นเป็นดินแดนหุบเขาและแนวเทือกเขาระดับต่ำเป็นจำนวนมาก ทางตอนกลาง-ตะวันตกนั้นเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของแม่น้ำสองสายหลักของจีน ได้แก่ แม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซี ส่วนแม่น้ำอื่นที่สำคัญของจีนได้แก่ แม่น้ำซี แม่น้ำโขง แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำอามูร์ ทางตะวันตกนั้น เป็นเทือกเขาสำคัญ ที่โดดเด่นคือ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีจุดสูงสุดของจีนอยู่ทางครึ่งตะวันออกของยอดเขาเอเวอร์เรสต์ และที่ราบสูงอยู่ท่ามกลางภูมิภาพแห้งแล้ง อย่างเช่น ทะเลทรายทาคลามากันและทะเลทรายโกบี

ประเด็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของทะเลทราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลทรายโกบี ถึงแม้ว่าแนวต้นไม้กำบั้งซึ่งปลูกไว้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 จะช่วยลดความถี่ของการเกิดพายุทรายขึ้นได้ แต่ภัยแล้งที่ยาวนานขึ้นและวิธีการทางเกษตรกรรมที่เลวส่งผลทำให้เกิดพายุฝุ่นขึ้นทางตอนเหนือของจีนทุกฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นจึงแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นของเอเชียตะวันออก รวมทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ตามข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมจีน (SEPA) ประเทศจีนกำลังกลายสภาพเป็นทะเลทรายราว 4,000 ตารางกิโลเมตร ต่อปี น้ำ การกัดเซาะ และการควบคุมมลพิษได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญในความสัมพันธ์ของจีนกับต่างประเทศ ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายในเทือกเขาหิมาลัยยังได้นำไปสู่การขาดแคลนน้ำในประชากรจีนนับหลายร้อยล้านคน

ประเทศจีนมีสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นฤดูแล้งและฤดูมรสุมชื้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิในฤดูหนาวและฤดูร้อน ในฤดูหนาว ลมทางเหนือซึ่งพัดลงมาจากละติจูดสูงทำให้เกิดความหนาวเย็นและแห้งแล้ง ขณะที่ในฤดูร้อน ลมทางใต้ซึ่งพัดมาจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ละติจูดต่ำจะอบอุ่นและชุ่มชื้น ลักษณะภูมิอากาศในจีนแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากภูมิลักษณ์อันกว้างขวางและซับซ้อนของประเทศ

ความหลากหลายทางชีวภาพ

 แพนด้ายักษ์

จีนเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และตั้งอยู่ในสองเขตชีวภาพสำคัญของโลก เขตชีวภาพพาลีอาร์กติกและเขตชีวภาพอินโดมาลายา ในเขตพาลีอาร์กติกจะพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างเช่น ม้า อูฐ สมเสร็จ และหนูเจอร์บัว ส่วนสปีชีส์ที่พบในเขตอินโดมาลายาเช่น แมวดาว ตุ่นพงสาลี กระแต ไปจนถึงลิงและเอปหลายสปีชีส์ สัตว์บางชนิดพบในเขตชีวภาพทั้งสองเนื่องจากการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติและการอพยพ และกวางหรือแอนติโลป หมี หมาป่า สุกรและสัตว์ฟันแทะสามารถพบได้ในทุกสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน แพนด้ายักษ์ที่มีชื่อเสียงนั้นพบได้ในบริเวณจำกัดตามแม่น้ำแยงซี ประเทศจีนกำลังประสบปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่ในด้านการค้าสปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามกิจกรรมดังกล่าวแล้วก็ตาม

ประเทศจีนมีป่าหลายประเภท ขอบเขตทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือนั้นมีภูเขาและป่าสนเขตอากาศหนาว ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บางสปีชีส์ รวมไปถึง มูสและหมีดำเอเชีย นอกจากนี้ยังมีนกอีกราว 120 ชนิด ป่าสนชื้นมีชั้นไม้พุ่มเป็นไผ่ แทนที่โดยกุหลาบพันปีกลุ่มไม้จำพวกสนและยิวบนภูเขาที่สูงกว่า ป่าใต้เขตร้อน ซึ่งพบมากทางตอนกลางและตอนใต้ของจีน พบพรรณพืชจำนวนน่าพิศวงถึง 146,000 สปีชีส์ ป่าฝนเขตร้อนและป่าดิบแล้ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีขอบเขตเพียงมณฑลยูนนานและเกาะไหหนาน แต่มีพรรณพืชและพันธุ์สัตว์คิดเป็นหนึ่งในสี่ของทั้งหมดที่พบในประเทศจีน

ขอขอบคุณ แหล่งที่มาของข้อมูลและรูปภาพ http://th.wikipedia.org